วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นาโนเทคโนโลยี Nanotechnology


นาโนเทคโนโลยี ( Nanotechnology) คือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการ การสร้างหรือการวิเคราะห์ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ในระดับนาโนเมตร(ประมาณ 1-100 นาโนเมตร) รวมถึงการออกแบบหรือการประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อใช้สร้างหรือวิเคราะห์วัสดุในระดับที่เล็กมากๆ เช่น การจัดอะตอมและโมเลกุลในตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้โครงสร้างของวัสดุหรืออุปกรณ์มีคุณสมบัติพิเศษขึ้นไม่ว่าทางด้านฟิสิกส์ เคมี หรือชีวภาพ และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
นาโนศาสตร์ (Nanoscience) คือ วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา วัสดุ อินทรีย์ อนินทรีย์ และรวมไปถึงสารชีวโมเลกุล ที่มีโครงสร้างสามมิติ ยาว กว้าง สูง ด้านใดด้านหนึ่งอยู่ระหว่าง 1-100 นาโนเมตร โดยวัสดุชนิดใดก็ตาม ถ้ามีมิติทั้งสามเล็กกว่า 100 นาโนเมตร วัสดุชนิดนั้นก็จะถูกเรียกว่า สาม-ดี วัสดุนาโน (3-D nanomaterial) ถ้ามีแค่ สอง หรือ หนึ่งมิติ ที่เล็กกว่า 100 นาโนเมตร ก็จะถูกเรียกว่าวัสดุ สอง-ดี (2-D) และ หนึ่ง-ดี (1-D) ตามลำดับ คุณสมบัติของวัสดุนาโนจะแตกต่างจากวัสดุขนาดใหญ่ (bulk materials) ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติ ทางฟิสิกส์ เคมี และชีวภาพ ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว ดังนั้นถ้าพูดถึง นาโนศาสตร์ ก็จะเป็นการสร้างหรือศึกษาวัสดุที่มีโครงสร้างในระดับนาโนเมตร โดยผลลัพย์ที่ได้ก็คือ จะได้วัสดุชนิดใหม่หรือรู้คุณสมบัติที่แตกต่าง และน่าสนใจ โดยคุณสมบัติเหล่านั้นจะถูกอธิบายด้วยทฤษีทางควอนตัม (quantum theory)

ประวัติ




 คลิสตศตวรรษ ที่ 20




          คำว่า “นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology)” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ  โนริโอะ ทานิกูชิ (Norio Taniguchi) แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งกรุงโตเกียว (Tokyo Science University) ประเทศญี่ปุ่น เขาใช้คำว่านาโนเทคโนโลยีนี้เพื่อที่จะบรรยายถึงว่าเป็น “เทคโนโลยีการผลิตที่มีความถูกต้องแม่นยำสูงเป็นพิเศษ และก้าวข้ามพ้นมิติของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างเช่น ความแม่นยำที่สุดและถูกต้องที่สุดในระดับขนาด 1 นาโนเมตร ”

Charles Morrison
          ศาสตราจารย์ชาร์ล มอริสัน และเอ็มม่า มอริสัน (Charles & Emma Morrison) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเคมีแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University)  ประเทศสหรัฐอเมริกา   มาร์ก รัทเนอร์ (Mark A. Ratner) และแอฟแวรม (A. Aviram) แห่งบริษัทไอบีเอ็ม ทั้งสี่คนได้ร่วมกันเสนอแนวคิดเกี่ยวกับว่า  โมเลกุลเฉพาะแต่ละโมเลกุลสามารถแสดงพฤติกรรมเหมือนอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ที่คอมพิวเตอร์จะถูกสร้างขึ้นมาในทิศทางของวิธีการจากเล็กไปใหญ่ (bottom - up)   โดยการประกอบกันของโมเลกุลแต่ละตัวเข้าเป็นส่วนประกอบภายในวงจรได้ จาก สมมติฐานนี้จึงนำไปสู่ทิศทางการนำไปประยุกต์ใช้ทางด้านนาโนเทคโนโลยี  จากผลงานการนำเสนอแนวคิดนี้  ทำให้มาร์ก รัทเนอร์ได้ชื่อว่าเป็นเสมือนบิดาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ระดับโมเลกุล (molecular-scale electronics)
                 

ค.ศ.1977



\
Sir Chandrasekhara Venkata Raman
Richard P. Van Duyne

Surface Enhance Raman Spectroscopy : SERS
          สเปกโตรสโกปี (spectroscopy) เป็นกลุ่มหนึ่งของเทคนิคต่างๆ ซึ่งใช้ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างแสงกับสสาร  เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะของสสาร และโครงสร้างของโมเลกุล นักวิทยาศาสตร์คือเซอร์จันดราเซกฮาร่า เวนกาต้า รามาน (Chandrasekhara Venkata Raman) แห่งมหาวิทยาลัยแคลคัตตา (Calcutta University) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ. 1930 จากผลงานการค้นพบของเขาในปี ค.ศ. 1928 ที่เขาพบว่าหากนำตัวอย่างมาศึกษาโดยเทคนิคสเปกโตรสโกปี  ข้อมูลที่ได้จากการกระเจิงแสงของโมเลกุลของตัวอย่างนั้น สามารถที่จะนำมาใช้อธิบายเกี่ยวกับส่วนประกอบเชิงเคมีและโครงสร้างโมเลกุลของตัวอย่างได้       แต่ทว่าในตอนนั้นเครื่องมือของรามานยังไม่สามารถที่จะนำมาใช้ศึกษาในระดับนาโนเมตรได้ แต่ภายหลังในปี ค.ศ. 1960 เมื่อมีการประดิษฐ์ลำแสงเลเซอร์ขึ้นมาได้  เทคนิคนี้ก็ได้รับโอกาสในการปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้มากยิ่งขึ้น  จนกระทั่งในปี   ค.ศ.   1977 นักวิทยาศาสตร์ชื่อริชาร์ด แวน ดายน์ (Richard P. Van Duyne)    แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น  (Northwestern University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบพื้นผิวที่ช่วยทำให้เกิดสเปกโตรสโกปีของรามานได้ดีขึ้น (surface enhance raman spectroscopy : SERS) ซึ่งทำให้สามารถใช้ในการศึกษาที่ละเอียดระดับนาโนเมตรได้ โดยแวน ดายน์ได้บรรยายไว้ว่าเมื่อโมเลกุลได้สัมผัสกับพื้นผิวหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเนินเล็กๆ  และมีช่องว่างระหว่างเนิน  โดยมีขนาดประมาณ 50 – 100 นาโนเมตร จะทำให้ความเข้มของรามานถูกขยายมากขึ้นอีกเป็น 1,000,000 เท่า  ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการใช้ SERS นี้ในเทคนิคสเปกโตรสโกปีระดับโมเลกุลกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 
          ปัจจุบัน SERS ถูกนำมาใช้ในการศึกษาปฏิกิริยาเชิงไฟฟ้าเคมีของโมเลกุล  การเร่งปฏิกิริยาเคมี การสังเคราะห์สาร และนำมาใช้ในทางชีวเคมี
ค.ศ.1981

Gerd Binning  &  Heinrich Rohrer
          เกิร์ด บินนิง (Gerd Binning) และ เฮนริช โรห์เรอ (Heinrich Rohrer) นักวิจัยในห้องปฏิบัติการของบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้ประดิษฐุ์ เครื่อง STM (scanning tunneling microscope) ขึ้นจนสำเร็จ    ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถที่จะเห็นภาพของโลกระดับนาโนเมตรได้เป็นผลสำเร็จ  แต่ไม่เพียงแต่สามารถมองเห็นอนุภาคระดับนาโน  โมเลกุลขนาดเล็ก  หรืออะตอมเดี่ยวได้เพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะใช้ในการควบคุมจัดการกับอนุภาคระดับนาโน   อะตอม หรือโมเลกุลขนาดเล็กได้อีกด้วย  อย่างเช่น  การจัดเรียงอะตอมทีละอะตอมเข้าเป็นโมเลกุลหนึ่ง  เป็นต้น  และจากผลงานการประดิษฐ์เครื่องมือนี้ขึ้นมา ทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบล ในปี ค.ศ. 1986
ค.ศ.1985

Harold Kroto
Richard Smalley
Robert Curl
buckyball
          ศาสตราจารย์ฮาโรลด์ โครโต้ (Harold Kroto) แห่งมหาวิทยาลัยซัสเซก (University of Sussex) ประเทศอังกฤษ  ริชาร์ด สมอลลี่ (Richard Smalley) และ โรเบิร์ต เคิร์ล (Robert Curl) แห่งมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ประเทศสหรัฐอเมริกา  ได้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของคาร์บอนแบบใหม่ นั่นคือ บัคมินสเตอร์ฟลูเลอรีน (buckminsterfullerene) หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันว่า บัคกี้บอล (buckyball) ซึ่งเป็นโครงสร้างระดับนาโนเมตรของโมเลกุลคาร์บอนที่สร้างขึ้นมาจากอะตอมของคาร์บอนจำนวน 60 อะตอมเชื่อมต่อกัน และมีรูปร่างที่สมมาตรคล้ายกับลูกฟุตบอล  โดยเป็นโครงสร้างที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1 นาโนเมตรเท่านั้น   เนื่องจากการค้นพบนี้ทำให้พวกเขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ในปี ค.ศ. 1996
ค.ศ 1986

atomic force microscope (AFM)
          เกิร์ด บินนิ่ง (Gerd Binning) และคณะได้ประดิษฐ์ เครื่อง AFM (atomic force microscope)ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ปลายแหลมที่มีขนาดเล็กระดับเป็นอะตอมเดี่ยว (หรือมีขนาดเพียงหนึ่งอะตอมเท่านั้น)  ใช้ตรวจสอบพื้นผิวของวัตถุโดยตรงในระดับความละเอียดของช่วง 1-100 นาโนเมตรได้ และสามารถที่จะสร้างเป็นภาพในรูปแบบสามมิติ เพื่อแสดงลักษณะพื้นผิวของวัตถุที่ถูกวัดด้วยกำลังขยายที่สูงมาก (ประมาณได้ว่าเกือบ 1,000,000 เท่าของวัตถุที่ถูกวัด)

Eric Drexler
          ศาสตราจารย์อีริค  เดรกส์เลอร์ (Eric Drexler) นักวิทยาศาสตร์ผู้นำเสนอแนวคิดเทคโนโลยีการสร้างระดับนาโนแบบจากเล็กไปใหญ่ (bottom-up) ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “จักรกลที่ใช้ในการสร้างสรรค์ (engines of creation)” ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่จะเป็นไปได้ในการสร้างระดับนาโน  และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีนี้  ซึ่งจากแนวคิดของศาสตราจารย์เดรกส์เลอร์นี้  ทำให้เกิดกระแสกระตุ้นความสนใจของเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเกี่ยวกับว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่  โดยมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในแนวคิดที่เขาได้นำเสนอไว้


  ค.ศ. 1987     
    
   ทีโอดอร์ ฟูลตัน (Theodore Fulton) และเจอรัลด์ โดแลน (Gerald Dolan) นักวิจัยในห้องปฏิบัติการเบล (Bell Labs) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สร้างผลงานการประดิษฐ์ใหม่ที่เรียกว่า ทรานซิสเตอร์แบบอิเล็กตรอนเดี่ยวลอดผ่าน (single-electron tunneling transistor : SET) โดยภายในอุปกรณ์นี้สามารถควบคุมการเคลื่อนที่โดยลอดผ่านของอิเล็กตรอนเดี่ยวได้  ซึ่งเป็นการควบคุมในระดับนาโนได้เป็นผลสำเร็จครั้งแรก โดยอุปกรณ์นี้จะทำงานโดยอาศัยปรากฏการณ์การลอดผ่านระดับควอนตัมของอิเล็กตรอน (tunnel effect)   ข้ามผ่านฉนวนหนาประมาณ 1 นาโนเมตรที่กั้นขวางระหว่างขั้วไฟฟ้าทั้งสองขั้ว (ประมาณฉนวนนั้นได้ว่าเป็นอะตอมจำนวน 3 อะตอมเรียงตัวกันเป็น 1 แถว)

ค.ศ. 1988
          
quantum dot ของแคดเมียมเซลิไนด์ (CdSe)
    
          ดร.หลุยส์ บรัส (Louis Brus) และทีมวิจัยของเขา ณ ห้องปฏิบัติการเบลล์ (Bell Labs) ได้ประสบกับเหตุการณ์สำคัญหนึ่งต่อการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับนาโน โดยค้นพบว่าผลึกระดับนาโนที่มีขนาดต่างๆ กันของสารกึ่งตัวนำชนิดเดียวกัน เช่น สารกึ่งตัวนำแคดเมียมเซลิไนด์ (CdSe) สามารถแสดงพฤติกรรมของสีที่แตกต่างกันออกไปอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งผลึกที่มีขนาดระดับนาโนเมตรของสารกึ่งตัวนำเหล่านี้เรียกกันว่าควอนตัม ดอท (quantum dot) และจากผลงานการค้นพบนี้ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจขอบเขตของปรากฎการณ์ระดับควอนตัม ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างขนาดและสีของผลึกนาโนมากยิ่งขึ้น
     
          ควอนตัม ดอท มีขีดความสามารถที่จะปฏิวัติวิธีการเก็บสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถนำมาใช้สำหรับการวินิจฉัยทางด้านการแพทย์  โดยถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ (indicator) ทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ และนำมาพัฒนาสู่อุปกรณ์คุณสมบัติทางแสงระดับนาโน  อย่างเช่น แอลอีดี (LEDs) เป็นต้น

ค.ศ. 1990
          
Don Eigler
จัดเรียงธาตุซีนอนเป็นอักษร IBM
    
          นักฟิสิกส์ของศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม (IBM) ชื่อดอน ไอเกลอร์ (Don Eigler) ประสบความสำเร็จในการจัดเรียงอะตอมของธาตุซีนอน (xenon) ทีละอะตอมเป็นตัวอักษร IBM ได้อย่างแม่นยำ  ซึ่งเป็นการจัดเรียงอะตอมในระดับนาโนเมตรโดยใช้เครื่อง STM (scanning tunneling microscope) ซึ่งเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า  เทคโนโลยีของมนุษย์สามารถเข้าไปจัดการสร้างโครงสร้างในระดับอะตอมได้
    
ค.ศ. 1991     
Sumio Lijima
ท่อนาโนคาร์บอน
    
          ซูมิโอะ ลิจิมา (Sumio Lijima) นักวิจัยของบริษัทเอ็นอีซี (NEC) ประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบโครงร่างแบบใหม่ของคาร์บอนที่เป็นลักษณะท่อเล็กที่มีขนาดในระดับนาโนเมตร  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ท่อนาโนคาร์บอน (carbon nanotube) ที่เกิดขึ้นมาจากแผ่นกราไฟต์  และหลังจากนั้นอีกสองปีลิจิมาก็ทำงานร่วมกันกับโดนัล เบททูน (Donald Bethune) ของบริษัทไอบีเอ็ม (IBM) ประเทศสหรัฐอเมริกา  ได้ทำการสำรวจพบว่าโครงสร้างท่อนาโนคาร์บอนผนังเดี่ยวนั้น  เป็นโครงสร้างมีขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1-2 นาโนเมตรเท่านั้น
     
          ท่อนาโนคาร์บอนสามารถแสดงพฤติกรรมได้เหมือนกับโลหะหรือสารกึ่งตัวนำ  แต่สามารถนำไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดง  สามารถถ่ายโอนความร้อนได้ดีกว่าเพชร  และเป็นโครงสร้างวัสดุที่แข็งแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จักกันมา  ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำท่อนาโนคาร์บอนมาประยุกต์ใช้ประโยชน์กันมากในด้านต่างๆ  โดยเฉพาะคุณสมบัติพิเศษทางด้านไฟฟ้าและเชิงกล 

ค.ศ. 1996
          
อนุภาคนาโนทองคำที่ถูกยึดติดโดยดีเอ็นเอ
    
          ตั้งแต่ไมเคิล ฟาราเดย์ค้นพบคุณสมบัติที่พิเศษทางอิเล็กทรอนิกส์และทางแสงของคอลลอยด์ธาตุทองคำในปี ค.ศ. 1857  เหล่านักวิจัยก็พยายามที่จะศึกษาและนำความพิเศษนี้ไปประยุกต์ใช้กันเป็นอย่างมาก 
     
          ในปี ค.ศ. 1996 นักวิจัยชื่อแชด เมอร์กิ้น (Chad Mirgin) และโรเบิร์ต เล็ทซิงเกอร์ (Robert Letsinger) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) ประเทศสหรัฐอเมริกา  ได้ค้นพบวิถีทางในการนำคอลลอยด์ของธาตุทองคำมาประยุกต์ใช้งานทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับนาโน  โดยที่พวกเขาทำการประกอบสายเกลียวของดีเอ็นเอสังเคราะห์เข้ากับอนุภาคนาโนของทองคำได้สำเร็จ  และเนื่องจากคุณสมบัติที่พิเศษของดีเอ็นเอ  ที่แต่ละสายเกลียวสามารถที่จะประกอบตัวเข้าด้วยกันอย่างถูกต้องกับอีกสายเกลียวหนึ่งได้  ดังนั้นแล้วความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นก็คือดีเอ็นเอจึงถูกใช้เป็นเสมือนพิมพ์เขียวในกระบวนการทำงาน  เพื่อคัดเลือกและสร้างสารอนินทรีย์ใหม่ขึ้นมาได้  และจากการใช้คุณสมบัติการประกอบตัวกันเองได้อย่างถูกต้องของดีเอ็นเอนี้  เหล่านักวิจัยสามารถที่จะสังเคราะห์สารใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษขึ้นมา  เพื่อใช้เป็นหน่วยโครงสร้างพื้นฐานระดับนาโนและมันก็สามารถสร้างตัเองขึ้นมาเองได้ ซึ่งผลจากการค้นพบนี้  ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจในสถาปัตยกรรมการออกแบบโครงสร้างของสารประกอบร่วมกัน  ระหว่างสารอินทรีย์และ สารอนินทรีย์ ในระดับนาโนกันอย่างจริงจังมากขึ้น

ค.ศ. 1999     
บันทึกคำกล่าวของ ดร.เฟรย์แมน
     
          การพัฒนาที่สำคัญยิ่งในแวดวงของเทคนิคการใช้เครื่องมือทางด้านนาโนเทคโนโลยี คือวิธีการdip-pen nanolithography หรือ DPN ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1999 โดยแชด เมอร์กิน (Chad Mirgin) ศาสตราจารย์ทางด้านเคมีและเป็นผู้บริหารของสถาบันนาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทิร์น (Northwestern University) ประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งสร้างขึ้นมาจากแรงบันดาลใจของปากกาขนนกที่ใช้กันในอดีต โดยวิธีการ DPN นี้เป็นการใช้ปลายแหลมของเครื่อง AFM เป็นปากกาสำหรับเขียนลงบนพื้นผิววัตถุ โดยใช้อะตอมเดี่ยวของธาตุใดธาตุหนึ่งเป็นน้ำหมึก (ซึ่งก็เป็นน้ำหมึกที่มีมิติของขนาดระดับนาโนเมตร)  เพื่อสร้างโครงสร้างระดับนาโนขึ้นมา


ประโยชน์ของนาโนเทคโนโลยี


ความหวังที่จะฝ่าวิกฤติปัจจุบันของมนุษยชาติจากนาโนเทคโนโลยีมีดังนี้
  1. พบทางออกที่จะได้ใช้พลังงานราคาถูกและสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  2. มีน้ำที่สะอาดเพียงพอสำหรับทุกคนในโลก
  3. ทำให้มนุษย์สุขภาพแข็งแรงและอายุยืนกว่าเดิม (มนุษย์อาจมีอายุเฉลี่ยถึง 200 ปี)
  4. สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างพอเพียงกับประชากรโลก
  5. เพิ่มศักยภาพในการติดต่อสื่อสารของผู้คนทั้งโลกอย่างทั่วถึง ทัดเทียม และพอเพียง
  6. เพิ่มศักยภาพในการสำรวจอวกาศมากขึ้น
   

ตัวอย่างผลงานจากนาโนเทคโนโลยี

  • คอนกรีตชนิดหนึ่งใช้เทคโนโลยีนาโน ใช้ Biochemical ทำปฏิกิริยาย่อยสลายกับมลภาวะที่เกิดจากรถยนต์ เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ ในประเทศอังกฤได้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างถนนและอุโมงค์ต่างๆ เพื่อลดมลภาวะบนท้องถนน และขณะเดียวกันเทคโนโลยีนาโน ทำให้อนุภาคคอนกรีตมีขนาดเล็กมาก ฝุ่น และแบคทีเรีย ไม่สามารถฝังตัวในเนื้อคอนกรีตได้ ทำให้อาคารที่ใช้คอนกรีตชนิดนี้ ดูใหม่เสมอ และยังคงไม่สะสมเชื้อโรค       
  • เสื้อนาโน ด้วยการฝัง อนุภาคนาโนเงิน (silver nanoparticle) ทำให้เกิดปฏิกิริยากับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย   
  • ไม้เทนนิสนาโน ผสม ท่อคาร์บอนนาโน เป็นตัวเสริมแรง ทำให้แข็งแรงขึ้น (อ่าน วัสดุผสม)
คาร์บอนนาโนทูบ ในโครงสร้างสามมิติ


อ้างอิง